ทฤษฎีหลักสูตร แนวคิด รูปแบบ ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ
การพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานเท่าที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของงานระดับนโยบาย โดยกรมวิชาการ เป็นผู้พัฒนาหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรระดับชาติ รวมทั้งเป็นผู้จัดเนื้อหาสาระแบบเรียน สื่อรายวิชาต่างๆ ให้โรงเรียนใช้เหมือนกันทั่วประเทศ การศึกษารูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เองในบริบทของประเทศไทย จากแนวคิดของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการหนดรูปแบบ รวมทั้งแนวคิดของนักวิชาการ อันนำไปสู่การังเคราะห์เป็นรูปแบบสำหรับการพัฒนาหลักสูตรในโรงเรียนครั้งนี้ มีดังต่อไปนี้
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของสงัด อุทรานันท์
สงัด อุทรานันท์ (2532, น. 38) ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรโดยยึดหลักการพัฒนาหลักสูตรทั้งระบบ โดยแบ่งออกเป็นการร่างหลักสูตร หารนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผลหลักสูตรทั้งระบบอีกด้วย แบ่งออกเป็นขั้นตอนซึ่งสามารถแสดงเป็นรูปวัฏจักรของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรได้ดัง แผนภาพประกอบ
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของวิชัย วงษ์ใหญ่
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2543, น. 77) ได้เสนอรูปแบบและแนวคิดของขั้นตอนกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ ดังนี้
- การกำหนดจุดมุ่งหมาย หลักการ โครงสร้าง และการออกแบบหลักสูตร
- ยกร่างเนื้อหาสาระแต่ละกลุ่มประสบการณ์ แต่ละหน่วยการเรียนและรายวิชา
- นำหลักสูตรที่พัฒนาแล้วไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง
- อบรมครู ผู้บริหารทุกระดับ และบุคลากรทางการศึกษาให้เข้าใจในหลักสูตรใหม่
- นำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติการสอนในโรงเรียน และประกาศใช้หลักสูตร โดยมีกิจกรรมการใช้หลักสูตรใหม่ ดังนี้
- การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน คือการจัดทำวัสดุหลักสูตร ได้แก่ เอกสารและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น
- ผู้บริหารจัดเตรียมสิ่งต่างๆ เช่น บุคลากร วัสดุหลักสูตร และบริการต่างๆ เริ่มตั้งแต่อบรมครูและบุคลากรฝ่ายบริหารหลักสูตร ห้องสมุด ห้องเรียน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ
- การสอน เป็นหน้าที่ของครูปฏิบัติการทั่วไป
- การประเมินผล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินผลการเรียนของนักเรียน และการประเมินผลหลักสูตร ตั้งแต่ประเมินเอกสาร ผลการนำหลักสูตรไปใช้ และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งจะต้องประเมินอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (2541: 2) เปิดโอกาสให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรได้เอง โดยพัฒนา “หลักสูตรท้องถิ่น” และให้ความหมายว่า เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนหรือสร้างจากหลักสูตรแกนกลางที่ปรับให้เข้ากับสภาพชีวิตจริงของผู้เรียนตามท้องถิ่นต่างๆ หรือสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อผู้เรียน หลักสูตรท้องถิ่นมีความสอดคล้อง เหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เน้นการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ การใช้เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลในการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพชีวิตจริงของตนเอง สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวและท้องถิ่น
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่นำหลักสูตรแกนกลางปรับให้เข้ากับสภาพของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างไปตามท้องถิ่นต่างๆ มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหาของชุมชน
การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางครูและผู้เรียนต้องร่วมกันศึกษาหลักสูตรแกนกลางที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนสร้างขึ้น กำหนดหมวดวิชาต่างๆ ที่ผู้เรียนแต่ละระดับชั้นต้องเรียน โดยวิเคราะห์หัวข้อของเนื้อหา ดังนี้
- ศึกษาหลักสูตรแกนกลางในระดับที่นำมาจัดการเรียนการสอน (ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ทุกหมวดวิชา)
- วิเคราะห์หัวข้อเนื้อหาที่ต้องพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นตามสภาพปัญหาของชุมชนที่สำรวจมาแล้ว และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น
- พิจารณาหัวข้อเนื้อหาในหมวดวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องนำมาจัดหมวดหมู่ด้วยกัน ในลักษณะการบูรณาการเนื้อหา
ขั้นที่ 2 การจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาและความต้องการที่ส่งผลต่อผู้เรียน
นำสภาพปัญหาและความต้องการที่สำรวจและวิเคราะห์แล้วมาพิจารณาร่วมกับหัวข้อเนื้อหา หมวดวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรที่กำหนดเป็นหมวดวิชาแกนในการพัฒนาเป็นหลักสูตรโรงเรียนแล้วจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการหลังจากนั้นจัดลำดับความสำคัญตามสภาพปัญหาของท้องถิ่นที่พบ
ขั้นที่ 3 การเขียนแผนการสอน โดยดำเนินการดังนี้
3.1 การกำหนดหัวข้อปัญหา (Theme) หัวข้อเนื้อหาของการเรียนการสอน
3.2 การเขียนสาระสำคัญ (Concept) เป็นบทสรุปใจความสำคัญของเรื่อง เน้นความคิดรวบยอด หลักการ ทักษะหรือลักษณะนิสัยที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
3.3 การกำหนดขอบเขตเนื้อหา ให้ระบุว่าหัวข้อเนื้อหาครอบคลุมและสัมพันธ์กับวิชาใด
3.4 การกำหนดจุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทาง เป็นจุดประสงค์ที่คาดว่าผู้เรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติอย่างไรเมื่อเรียนจบเรื่องนั้นแล้ว
3.5 การกำหนดจุดประสงค์เฉพาะหรือจุดประสงค์นำทาง เป็นการกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อเรื่องย่อยที่ปรารถนาให้เกิดกับผู้เรียน นิยมเขียนในลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
3.6 การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กำหนดกิจกรรมตามขั้นตอนของทฤษฎีเชิงระบบ (System Approach)
3.7 สื่อการเรียนการสอน ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเรียนการสอนแต่ละหัวข้อเนื้อหาต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และสามารถจัดหาได้จากที่ใด โดยวิธีใด
3.8 การประเมินผล เป็นการเขียนแนวทางการประเมินผลของการปฏิบัติกิจกรรมแต่ละขั้นตอนตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนรวบรวมผลงายไว้ นำเสนอครูประจำกลุ่ม
ขั้นที่ 4 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาโดยมีสถานศึกษาอำนวยความสะดวกและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตาสภาพจริง ซึ่งสถานศึกษาโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นผู้อนุมัติหลักสูตรที่ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาตามความต้องการทางนโยบายของรัฐ ความต้องการทางการศึกษาและความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน
ขั้นที่ 5 การประเมินผล
การประเมินผลเน้นการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง (Authentic assessment) ซึ่งประเมินอิงความสามารถและพัฒนาการของผู้เรียนมุ่งเน้นความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นชีวิตจริงของผู้เรียนแต่ละคน สะท้อนให้เห็นสภาพของงานและสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติ โดยผู้เรียนเป็นผู้สร้างคำตอบด้านการแสดง การสร้างสรรค์ผลผลิตของงานเป็นการประเมินผลงานผู้เรียนที่ทำได้จริง ในทางปฏิบัตินิยมใช้วิธีการประเมินจากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความสามารถ ความก้าวหน้าของผู้เรียน จากการรวบรวมข้อมูล ผลผลิต การแสดงออก การประเมินจากสภาพจริง ในงานที่มีความหมายและมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนจะสะท้อนถึงความสามารถ การถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับ โครงสร้างและประมวลความรู้ ความคิดในขั้นสูงรวมทั้งคุณภาพของการแสดงออกและผลผลิตที่มีคุณภาพ