หลักสูตรมีความสำคัญหรือจำเป็นต่อการศึกษาหรือไม่
อย่างไร
หลักสูตรเปรียบเสมือนเข็มทิศที่ใช้ในการจัดการศึกษา
เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติที่ต้องการให้หลักสูตรช่วยพัฒนาบุคคลต่างๆ
ให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและพัฒนาการในทุกๆด้าน
นอกจากนี้หลักสูตรยังช่วยทำให้บุคคลต่างๆ
สามารถกำหนดแนวทางในการประกอบอาชีพตามความสามารถ ความถนัดและความสนใจของตนเอง
เพื่อบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ตลอดจนช่วยพัฒนาประเทศชาติไปสู่ความเจริญในทุกๆด้าน
ความสำคัญของหลักสูตร
อำภา
บุญช่วย (2533 : 20 - 21) สรุปได้ดังนี้
1.เป็นเอกสารของทางราชการ หรือเป็นบัญญัติของรัฐบาล เพื่อให้บุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาปฏิบัติเปรียบเสมือน “คำสั่ง” หรือ “ข้อบังคับ” ของทางราชการชนิดหนึ่งนั่นเอง
2.เป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษา
เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ
รวมทั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการที่จะจัดสรรงบประมาณ บุคลากร
อาคารสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาของรัฐบาลให้แก่โรงเรียน
3.เป็นแผนการดำเนินงานของนักบริหารการศึกษาที่จะต้องอำนวยการควบคุมดูแล
และติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาล
4.เป็นแผนการปฏิบัติงานหรือเครื่องชี้นำทางในการปฏิบัติงานของครู
เพราะหลักสูตรจะเสนอแนะจุดมุ่งหมาย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
และการประเมินผลการเรียนการสอนซึ่งครูควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง
5.เป็นเครื่องมือของรัฐในอันที่จะพัฒนาคนและพัฒนากำลังคนซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติตามแผนของรัฐบาล
6.เป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญของชาติ
เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ถ้าประเทศชาติใดมีหลักสูตรที่เหมาะสม
ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้คนในประเทศของตนมีคุณภาพ
สันต์
ธรรมบำรุง (2527 : 9
- 10) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรไว้ว่า
1.หลักสูตรเป็นแผนปฏิบัติงานของครู
เพราะหลักสูตรจะกำหนดจุดมุ่งหมายเนื้อหาสาระการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
และการประเมินผลไว้เป็นแนวทาง
2.หลักสูตรเป็นข้อกำหนดแผนการเรียนการสอน
อันเป็นส่วนรวมของประเทศเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาแห่งชาติ
3.หลักสูตรเป็นเอกสารของทางราชการเป็นบัญญัติของทางรัฐบาล
เพื่อให้บุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาปฏิบัติตาม
4.หลักสูตรเป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ
และยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่
วัสดุอุปกรณ์ฯลฯ ของการศึกษาของรัฐให้แก่สถานศึกษาของรัฐบาลด้วย
5.หลักสูตรเป็นแผนดำเนินงานของผู้บริหารการศึกษาที่จะอำนวยความสะดวกและควบคุมดูแลติดตามผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลด้วย
6.หลักสูตรจะกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงาม และพัฒนาการของเด็กตามจุดหมายของการศึกษา
7.หลักสูตรจะกำหนดลักษณะและรูปร่างของสังคมในอนาคตได้ว่าจะเป็นไปในรูปใด
8.หลักสูตรจะกำหนดแนวทางให้ความรู้ทักษะและความสามารถความประพฤติที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอันเป็นการพัฒนากำลังคน
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติที่ได้ผล
9.หลักสูตรจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญของประเทศ
เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ประเทศใดจัดการศึกษาโดยมีหลักสูตรที่เหมาะสม
ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์
และการเปลี่ยนแปลงย่อมได้กำลังคนที่มีประสิทธิภาพสูง
สุนีย์
ภู่พันธ์ (2546 : 16)
ได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรสรุปได้ดังนี้
1. หลักสูตรเป็นเสมือนเบ้าหลอมพลเมืองให้มีคุณภาพ
2. หลักสูตรเป็นโครงการและแนวทางในการให้การศึกษา
3. หลักสูตรเป็นแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็กตามจุดหมายของการจัดการศึกษา
4.หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์ว่าผู้เรียนและสังคมควรจะได้รับสิ่งใดบ้างที่เป็นประโยชน์แก่เด็กโดยตรง
5.หลักสูตรเป็นเครื่องมือกำหนดว่าเนื้อหาวิชาอะไรบ้างที่จะช่วยให้เด็กมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
6.หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่าวิธีการดำเนินการดำเนินชีวิตของเด็กให้เป็นไปด้วยความราบรื่นและผาสุกเป็นอย่างไร
7.หลักสูตรย่อมกำหนดแนวทางความรู้ ความสามารถ
ความประพฤติทักษะและเจตคติของผู้เรียนในอันที่อยู่ร่วมกันในสังคมและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและชาติบ้านเมือง
โดยสรุปแล้วหลักสูตรมีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการจัดการเรียนการสอน
เพราะหลักสูตรบอกให้ทราบว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างไร
และจะต้องจัดเนื้อหาสาระอย่างไร เครื่องมือวัดผลประเมินผลอย่างไร ดังนั้นหลักสูตรจึงเป็นหัวใจของการจัดการเรียนการสอน
และเป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมาย
ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และเป็นไปตามที่สังคมต้องการ