วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กิจกรรมบทที่ 5

กิจกรรม (Activity)
1.สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง ประเภทของหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร

ประเภทของหลักสูตร
นักวิชาการของประเทศไทยและต่างประเทศได้ทำการสรุปประเภทของหลักสูตรที่สำคัญไว้ทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่
1. หลักสูตรเนื้อหาวิชา (Subject Matter Curriculum or Subject Centered Curriculum)
ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระสำคัญได้แก่ ความคิดรวบยอด ทักษะ กฎและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เน้นที่เนื้อหาความรู้ไม่ได้เน้นที่ผู้เรียนผู้สร้างหลักสูตรจึงได้สร้างหลักสูตรโดยคำนึงถึงความรู้และสาระสำคัญเป็นหลัก
2. หลักสูตรหมวดวิชา (Fusion or Fused Curriculum)
แยกออกเป็นรายวิชาย่อย ๆ เช่น วิชาภาษาไทยประกอบด้วยรายวิชาย่อย ๆ ได้แก่ คัดไทย เขียนไทย ย่อไทย  เรียงความ เขียนจดหมาย อ่านเอาเรื่อง ไวยากรณ์ สายวิชาอื่น ๆ ก็แยกออกเป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม เลขคณิต เรขาคณิต ฯลฯ การประเมินผลของการศึกษาหรือการเรียนรู้ของนักเรียนคือ การวัดความสำเร็จด้วยคะแนนความจดจำของเนื้อหาในแต่ละวิชา
3. หลักสูตรสัมพันธ์ (Correlation or Correlated Curriculum)
เป็นหลักสูตรที่มีความสัมพันธ์กันในหมวดวิชานำเนื้อหาสาระวิชาอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันมารวมเข้าไว้ด้วยกัน การจัดให้มีการสัมพันธ์ระหว่างวิชาในระดับที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก
4. หลักสูตรสหสัมพันธ์ (Broad Fields Curriculum)
หลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรเนื้อหาวิชา(ซึ่งมีหลักสูตรหมวดวิชาหลักสูตรสัมพันธ์และหลักสูตรสหสัมพันธ์)หลักสูตรสหสัมพันธ์ยังคงใช้กันอยู่เพราะมีการผสมผสานของความรู้มากกว่านอกจากนี้แล้วการจัดหมวดวิชาเป็นสหสัมพันธ์หรือหมวดวิชาแบบกว้างนี้ก็มักจะทำกันในโรงเรียนระดับประถมและระดับมัธยมต้นมากกว่าระดับมัธยมปลาย
5. หลักสูตรแกนกลาง (Core Curriculum)
มีลักษณะคล้ายกับ หลักสูตรหมวดวิชา  หลักสูตรสัมพันธ์และหลักสูตรสหสัมพันธ์  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงเข้าอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกันแต่เน้นวิธีการแก้ปัญหา
6. หลักสูตรประสบการณ์ (Experience Curriculum)
หลักสูตรประสบการณ์เน้นให้ผู้เรียนมีบทบาทและส่วนร่วมในการเลือกหากิจกรรมการเรียนที่มีประโยชน์และตรงกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและลักษณะการร่วมกิจกรรมนั้นต้องอยู่บนรากฐานของความถนัดและความสนใจของนักเรียน หลักสูตรประสบการณ์มีลักษณะตรงข้ามกับหลักสูตรเนื้อหาวิชาอย่างเห็นได้ชัดเพราะหลักสูตรเนื้อหาวิชายึดเนื้อหาวิชาเป็นจุดศูนย์กลางแต่หลักสูตรประสบการณ์ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
7. หลักสูตรบูรณาการ (Integration or Integrated Curriculum)
หลักสูตรบูรณาการเป็นหลักสูตรที่รวมประสบการณ์เรียนรู้ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประสบการณ์ที่คัดเลือกมาจากหลายสาขาวิชาแล้วจัดเป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของประสบการณ์เป็นการ
บูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์สัมพันธ์และต่อเนื่องมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต  
 การออกแบบหลักสูตร

ในการออกแบบหลักสูตรนั้นเราต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายตัวเพี่อที่หลักสูตรที่ออกแบบนั้นจะได้มีความสอดคล้องกับสังคมผู้เรียนและทันสมัย ไม่เป็นหลักสูตรที่ไม่ทันต่อการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นในการออกแบบหลักสูตรนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยดังนี้
1.หลัก 7 ประการในการออกแบบหลักสูตร (7 principles in curriculum design)
ท้าทายความสามารถและมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ผู้เรียนควรจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และมีโอกาสในการพัฒนาและแสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้เหล่านั้น  ซึ่งต้องมีความสนุกสนานและเพลิดเพลินด้วยเช่นกัน
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถในแง่ของความกว้างของการเรียนรู้
ผู้เรียนควรมีโอกาสในด้านของกิจกรรมที่มีขอบข่ายที่กว้างอันจะทำให้ได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในวิถีที่หลากหลาย  และควรเป็นความกว้างที่มีความเพียงพอเหมาะสมต่อประสบการณ์ทั้งหมดของแต่ละคนซึ่งช่วยให้เกิดตัวเลือกในการเลือกเข้าเรียนในโรงเรียน
ต่อยอดความรู้มุ่งสู่ความสำเร็จ
การเรียนรู้ของผู้เรียนควรจะดำเนินและพัฒนาก้าวขึ้นไปทั้งในด้านของความรู้และความสำเร็จ
รู้ให้ลึก ศึกษาให้จริง
เนื่องจากมีประสบการณ์เพียงผิวเผิน  ดังนั้นผู้เรียนจึงควรมีโอกาสในการทำงานที่เน้นความลุ่มลึกมากขึ้น  เพื่อให้สามารถรู้ถึงความแตกต่างเกลียวแห่งการเรียนรู้  ค้นพบ  และประสบความสำเร็จด้วยความเข้าใจที่สูงยิ่งขึ้น
ตระหนักคุณค่าความแตกต่าง เสริมสร้างหนทางสู่อาชีพ
หลักสูตรควรตอบสนองความต้องการระหว่างบุคคลและสนับสนุนความถนัดและความสามารถพิเศษ  ผู้เรียนมีโอกาสในการเลือกสิ่งที่ดีและมีคุณค่าที่สุดของตนเมื่อต้องย้ายโรงเรียนเพื่อศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่ต้องการ
เชื่อมโยงให้ชัดเจน
กิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นควรรวบรวมให้เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด  และต้องมีการเชื่อมโยงที่ชัดเจนในด้านความแตกต่างทางด้านมุมมอง
สามารถนำไปบูรณาการกับชีวิตจริงทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผู้เรียนควรเข้าใจในวัตถุประสงค์ในกิจกรรมการเรียนรู้ของตน  เห็นคุณค่าในสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้นที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต
2.  ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (3Rs+7Cs)
        โดย ศ. น.พ.วิจารณ์  พานิชได้กล่าวถึงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ว่า การศึกษาต้องเตรียมคนออกไปเป็น knowledge worker และเป็น learning person ไม่ว่าจะประกอบสัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็น learning person และเป็น knowledge worker แม้แต่ชาวนาหรือเกษตรกรก็ต้องเป็นlearning person และเป็น knowledge worker ดังนั้นทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ (learning skills) ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ทักษะดังกล่าวจึงเป็นที่สำคัญที่ผู้เรียนพึ่งมีในศตวรรษที่21 ซึ่งหลักสูตรต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีทักษะที่สำคัญและสามารถใช้ชีวิตในสังคมศตวรรษที่21ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านี้การศึกษาของเรายึดหลัก 3Rs คือ เน้นการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียน อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น และต่อมาจึงได้เพิ่มเติมรวมหลัก 7Cs ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เข้าด้วยกัน จึงกลายเป็นหลัก 3Rs+7Cs ดังนี้
3Rs
-       Reading (อ่านออก)
-       Writing (เขียนได้)
-       Arithmetic (คิดเลขเป็น)
7Cs
-   Critical Thinking & Problem solving  คือ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ และการคิดแก้ปัญหา
-    Creativity & Innovation คือ ทักษะที่เมื่อคุณคิดวิเคราะห์แล้ว คุณต้องสร้างสรรค์ได้ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ได้
-    Cross-Cultural understanding คือ ทักษะที่เน้นความเข้าใจในกลุ่มคนในหลากหลายชาติพันธ์ เพราะเราเป็นสังคมโลก
-   Collaboration Teamwork & leadership คือ ทักษะการทำงานเป็นทีม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเป็นผู้นำ
-    Communication information and media literacy  คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการรู้จักข้อมูล ความสามารถในการเข้าใจสื่อ
-    ICT literacy  คือ ความสามารถในยุคของ Digital age ความสามารถในการใช้เครื่องเทคโนโลยี
-    Career and Life skill คือ ทักษะการใช้ชีวิต คือทักษะการประกอบอาชีพ หรืออาจหมายถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคมของเรา
ดังที่ได้กล่าวมาเมื่อนำกหลัก 7Cs มาจัดกลุ่ม สามารถแบ่งออกได้ 3 ส่วน คือ
-     การพัฒนาด้านความคิด ได้แก่ Critical Thinking, Creativity, Collaboration, และ Cross-Culture
-     ความสามารถความเข้าใจ (Literacy) ได้แก่ Information, Communication, Media, และ ICT
-     ทักษะการใช้ชีวิต (Life Skill) ได้แก่ การมองโลกหรือคนอื่นรอบๆ เป็นศูนย์กลางไม่ใช่มองตนเองเป็นศูนย์กลาง
3. สี่เสาหลักของการศึกษา (The four Pillars of Education)
the Four Pillars of Education หรือ สี่เสาหลักทางการศึกษา ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำอธิบายไว้ว่าหมายถึง หลักสำคัญ ๔ ประการของการศึกษาตลอดชีวิต ว่าการศึกษาตลอดชีวิตมีหลักสำคัญ ๔ ประการ ได้แก่ การเรียนเพื่อรู้  (Learning to Know) การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง  (Learning to Do) การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน  (Learning to Live Together) และการเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to Be)
                  -    การเรียนเพื่อรู้ คือ การเรียนที่ผสมผสานความรู้ทั่วไปกับความรู้ใหม่ในเรื่องต่าง ๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง การเรียนเพื่อรู้หมายรวมถึงการฝึกฝนวิธีเรียนรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต                      
                 -   การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง คือ การเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคคลสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และปฏิบัติงานได้ เป็นการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมและในการประกอบอาชีพ ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสภาพในท้องถิ่นหรือประเทศนั้น ๆ หรืออาจเป็นการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน โดยใช้หลักสูตรซึ่งประกอบด้วยการเรียนในภาคทฤษฎีสลับกับการฝึกปฏิบัติงาน
                -   การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน คือ การเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคคลเข้าใจผู้อื่นและตระหนักดีว่า มนุษย์เราจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดำเนินโครงการร่วมกันและเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ โดยตระหนักในความแตกต่างหลากหลาย ความเข้าใจอันดีต่อกันและสันติภาพ ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าคู่ควรแก่การหวงแหน
               -    การเรียนรู้เพื่อชีวิต คือ การเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคคลสามารถปรับปรุงบุคลิกภาพของตนได้ดีขึ้น ดำเนินงานต่าง ๆ โดยอิสระยิ่งขึ้น มีดุลพินิจ และความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น การจัดการศึกษาต้องไม่ละเลยศักยภาพในด้านใดด้านหนึ่งของบุคคล เช่น ความจำ การใช้เหตุผล ความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ สมรรถนะทางร่างกาย ทักษะในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น.
                ในการออกแบบแบบหลักสูตรนั้นเราควรใช้ 3  หลักนี้มาเป็นพื้นฐานในการออกแบบเพื่อที่เราจะสามารถออกแบบหลักสูตรได้ตรงกับผู้เรียนและผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
ประโยชน์ของการออกแบบหลักสูตร
การออกแบบหลักสูตรที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา ฮอลล์ (Hall.1962 อ้างถึงใน ปราณี สังขะตะวรรธน์และสิริวรรณ ศรีพหล. 2545 : 9798) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการออกแบบหลักสูตรไว้ ดังนี้
1.การออกแบบเป็นการเน้นที่เป้าหมาย จุดหมาย และวัตถุประสงค์ของงานเป็นสำคัญ การออกแบบหลักสูตรจึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่าหลักสูตรที่สร้างขึ้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ หรือจุดหมายของการจัดการศึกษานั้นได้
           2.การออกแบบหลักสูตรที่ดีช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการจัดการศึกษา การออกแบบเป็นการจัดองค์ประกอบหลักสูตรทั้ง4 ที่จะเป็นแนวทางให้กับผู้ใช้หลักสูตรได้ดำเนินการ โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย การให้สาระความรู้ที่จำเป็น วิธีการนำเสนอสาระความรู้ หรือ แนวการดำเนินการเรียนการสอน และการประเมินผลหรือการตัดสินว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่เพียงใด
           3.การออกแบบช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน การออกแบบเป็นการสร้างพิมพ์เขียว เพื่อให้ผู้ใช้หลักสูตรได้เห็นประสบการณ์ที่จำเป็นที่ผู้เรียนต้องได้รับ การกำหนดรูปแบบต่าง ๆ การกำหนดวิธีการนำหลักสูตรไปใช้ การกำหนดทิศทางรูปแบบการเรียนการสอน ช่วยให้ผู้ใช้หลักสูตรมีความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ สามารถนำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้
           4.การออกแบบที่ดีช่วยในการสื่อสารและประสานงาน นักออกแบบที่สามารถออกแบบหลักสูตร เอกสารการสอน และคู่มือต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความเข้าใจในการนำหลักสูตรไปใช้ โดยอาจจะไม่ต้องใช้เวลามาจัดอบรม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับหลักสูตร และการนำหลักสูตรไปใช้
           5.การออกแบบช่วยลดภาวะความตึงเครียด เนื่องจากการออกแบบหลักสูตรเป็น การวางแผนสำหรับการจัดการศึกษาที่มีเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การออกแบบหลักสูตรเป็นการสร้างพิมพ์เขียวจากสิ่งที่เป็นนามธรรมไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างไม่ยุ่งยาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับบล็อก

นางสาวมณีรัตน์  โพธิ์ศรี 613150610566 ชั้นปีที่ 2 ห้อง 1 สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ภาคเรียนที่ 1 ปีก...